ถั่วและธัญพืชสำหรับสายคีโต
คีโตคืออะไร?
คีโตเจนิคไดเอท (Ketogenic Diet) หรือการลดน้ำหนักแบบคีโต คือ วิธีการลดน้ำหนักที่เน้นการกินไขมันสูง กินโปรตีนให้น้อยกว่าไขมัน และลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ได้น้อยที่สุด โดยสัดส่วนของอาหารคือ ไขมันที่ดี 70% โปรตีนทุกประเภท 25% และคาร์โบไฮเดรต 5% ของปริมาณแคลอรี่ต่อวัน
ถั่วที่คนทำคีโตไดเอทสามารถทานได้
อัลมอนด์
อัลมอนด์เป็นถั่วที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย เต็มไปด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ แคลเซียม สังกะสี และสารต้านอนุมูลอิสระ แถมยังอุดมด้วยไขมันดีและอัลมอนด์ยังมีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันไม่ดีในเลือด (LDL)ได้อีกด้วย โดยอัลมอนด์สามารถรับประทานเป็นของว่างเดี่ยวๆแทนขนมขบเคี้ยวชนิดอื่นๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมในขนม อย่างเช่นคุกกี้ก็ได้เช่นกัน
แมคคาเดเมีย
แมคคาเดเมีย เป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวและสารประกอบโพลีฟีนอล (Pholyphenol) ที่เชื่อกันว่าแมคคาเดเมียอาจมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) ต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
พีแคน
ถั่วพีแคน(Pecan) มีโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และยังเป็นแหล่งไขมันดี ถั่วพีแคนเป็นถั่วที่มีขนาดใหญ่ เนื้อสัมผัสกรอบ มีรสหวานตามธรรมชาติ จึงถูกนำมาแปรรูปในหลายลักษณะและหลายเมนู เช่น ขนมขบเคี้ยว พายถั่วพีแคน ถั่วพีแคนอบแห้ง หรือช็อกโกแลตสอดไส้ถั่วพีแคน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปรับประทานกับสลัด หรือโยเกิร์ตได้อีกด้วย
วอลนัท
วอลนัทเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมาย ทั้งใยอาหาร ไขมันดี เกลือแร่ และวิตามิน
นอกจากนี้ วอลนัทยังเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระและโอเมก้า 3 ด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ช่วยป้องกันหรือรักษาโรคและอาการผิดปกติบางอย่างได้ อย่างโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง อีกทั้งอาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้ด้วย
เมล็ดทานตะวัน
เมล็ดทานตะวันนั้น ประกอบไปด้วยวิตามินและสารอาหารที่มีคุณค่าหลายชนิด เช่น มีทองแดง แมงกานีส และซีลีเนียมในปริมาณมาก มีวิตามินอี วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก ใยอาหาร และโปรตีน เป็นต้น
นอกจากนี้ เมล็ดทานตะวันยังมีไขมันสูงด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการรับประทานไขมันชนิดนี้ในปริมาณที่พอดี และรับประทานทดแทนอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์สูง อาจมีส่วนช่วยในการบำรุงหัวใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ลดความดันโลหิต ตลอดจนลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลได้
เมล็ดฟักทอง
เมล็ดฟักทอง เป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหารและกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งดีต่อสุขภาพของหัวใจ นอกจากนี้ในเมล็ดฟักทองยังเป็นแหล่งโปรตีนเข้มข้น แร่ธาตุ และวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย